เรียนพิเศษ ติวสอบ ออนไลน์ กวดวิชาติวเตอร์อันดับ 1 | Megastudy

megastudy

หาวิชาที่ต้องการค่ะ
สังคมศึกษา เบียร์
ติวเข้มสังคม
กับครูเบียร์

สังคมศึกษา เบียร์

Tutor‘s tip

ศาสนกิจในชีวิตประจำวัน
  • ครูเบียร์
  • 20.03.2566
  • 227

การไหว้พระสวดมนต

พุทธศาสนิกชนผู้มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธศาสนา ก่อนจะออกจากบ้าน และก่อนเข้านอน นิยมสวดมนต์เพื่อทำจิตใจให้สงบ เพราะการสวดมนต์เป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

บทสวดมนต์นำมาจากพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎกบ้าง นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแต่งขึ้นบ้าง เพื่อใช้สวดในโอกาสต่างๆ เป็นอุบายฝึกจิต และฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี เพราะขณะสวดมนต์ จิตของผู้สวดจะต้องจดจ่ออยู่ที่บทสวด จึงจะสวดได้อย่างถูกต้อง

ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำจะได้รับอานิสงส์ต่างๆ เช่น ตัดความกังวลได้ เพราะขณะสวดจิตจะระลึกถึงแต่บทสวด แล้วปล่อยวางความคิดอย่างอื่น ได้เจริญพุทธานุสสติ เพราะขณะสวดจิตระลึกถึงพระพุทธคุณ และคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จิตจะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว เพราะเมื่อสวดเป็นประจำ จะทำให้เป็นคนที่มีจิตมั่นคง เป็นต้น

การแผ่เมตตา

การแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีหลายแบบ จะใช้แบบใดก็ได้ ขอเพียงให้มีจิตสงบ เปี่ยมด้วยความเมตตา แล้วแผ่ไปก็ใช้ได้ การน้อมรำลึกถึงผู้มีพระคุณ เมื่อแผ่เมตตาแล้ว ก็ตั้งใจระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา แล้วกราบตั้งมือ 1 ครั้ง จากนั้นระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ และผู้มีพระคุณทั้งหลาย แล้วกราบตั้งมืออีกครั้งหนึ่ง

 

การทำบุญตักบาตร

การตักบาตรหรือใส่บาตร คือ การที่พุทธศาสนิกชนนำอาหาร ผลไม้ และน้ำ ใส่ลงในบาตรของพระสงฆ์ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ทุกคนสามารถทำได้ทุกวัน

การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ เนื่องจากพระสงฆ์ที่เป็นพุทธบุตร เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน และเป็นเนื้อนาบุญของโลก โดยไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า จะดำรงชีพอยู่ได้ก็ต้องอาศัยความอุปถัมภ์จากฆราวาส ที่ถวายอาหาร และปัจจัยในการดำรงชีพแก่ท่าน

การเข้าวัดฟังธรรม

พุทธศาสนิกชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจในวันธรรมสวนะ คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรมของพุทธบริษัท ที่เรียกเป็นคำสามัญโดยทั่วไปว่า "วันพระ” เป็นประเพณีนิยมของพุทธบริษัท ที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่าการฟังธรรมตามกาลที่กำหนดเป็นประจำไว้ ย่อมก่อให้เกิดสติปัญญา และสิริมงคลแก่ผู้ฟัง