เรียนพิเศษ ติวสอบ ออนไลน์ กวดวิชาติวเตอร์อันดับ 1 | Megastudy

megastudy

หาวิชาที่ต้องการค่ะ
สังคมศึกษา เบียร์
ติวเข้มสังคม
กับครูเบียร์

สังคมศึกษา เบียร์

Tutor‘s tip

พุทธมามกะ
  • ครูเบียร์
  • 13.03.2566
  • 221

คำว่า "พุทธมามกะ” แปลว่า ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ จึงหมายถึง การประกาศตนว่าเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา เช่น พระสาวกบางรูป ภายหลังได้รับการอุปสมบทแล้ว ก็ลั่นวาจาว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” เป็นต้น

เมื่อความนิยมในการบวชสามเณรลดลง พร้อมกับการส่งเด็กไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระราชปริวิตกว่า เด็กๆ จักไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้พระโอรสของพระองค์ ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก่อน และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเป็นพระองค์แรก ที่ปฏิญาณพระองค์ตามธรรมเนียมที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นั้น และใช้เป็นราชประเพณีต่อมาอีกหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร พระโอรสสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมเจ้าองค์อื่นๆ ก่อนจะไปศึกษาในยุโรป ก็ได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อน เป็นต้น

โดยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นประเพณีนิยมแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้นสืบต่อกันมา ในปัจจุบันความนิยมในการแสดงตนเป็นพุทธมามกะของชาวพุทธไทย สามารถสรุปได้ดังนี้

1. เมื่อบุตรหลานของตนรู้เดียงสาเจริญวัยอยู่ในระหว่าง 12–15 ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามตระกูลต่อไป

2. เมื่อจะส่งบุตรหลานไปเรียนยังต่างประเทศ ที่มิใช่ดินแดนของพระพุทธศาสนา

3. เมื่อจะปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา ส่วนมากทางโรงเรียนจะเป็นผู้จัดทำพิธีกรรม อาจจะเป็นปีละครั้ง

4. เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ