เรียนพิเศษ ติวสอบ ออนไลน์ กวดวิชาติวเตอร์อันดับ 1 | Megastudy

megastudy

หาวิชาที่ต้องการค่ะ
ฟิสิกส์ เชียร์
Cheer UP ฟิสิกส์
อัพคะแนนกับครูเชียร์

ฟิสิกส์ เชียร์

Tutor‘s tip

필독รวม 12 สาขาคณะวิศกรรมศาสตร์ยอดฮิต สาขาไหนดี เรียนอะไรบ้าง
  • chanakarn
  • 19.10.2565
  • 545

รวม 12 สาขาคณะวิศกรรมศาสตร์ยอดฮิต สาขาไหนดี เรียนอะไรบ้าง

คณะวิศกรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในคณะที่มีอัตราการแข่งขันสูง ไม่ว่าเป็นสาขาวิชาไหนก็ตาม ดังนั้น บทความนี้จึงจะมาแนะนำให้ผู้เรียนได้รู้จักแต่ละสาขาพร้อมวิชาเรียนที่น่าสนใจ

 

 

12 สาขาวิชาคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมแนะนำวิชาเรียนที่น่าสนใจ? ที่นี่มีคำตอบให้!

คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในแขนงวิชาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในการเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาของนักเรียนไทย โดยเฉพาะน้องๆ แผนการเรียน สายวิทย์-คณิต เนื่องจากงานวิศวกรรมและเทคโนโลยีเป็นแรงงานที่ต้องการในทุกยุคสมัย ทั้งยังรายได้ดี และยังมีความรู้เฉพาะทางหลายแขนงอีกด้วย 

บทความนี้จึงมาแนะนำว่ะวิศกรรมศาสตร์มีสาขาอะไร เรียนอะไร และถ้าเรียนวิศวะจบแล้วสามารถทำงานอะไรได้บ้างปดูกันเถอะ

 

 

 

 1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) จะเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีและการประยุกต์ใช้ไฟฟ้า เช่น การวิเคราะห์ ออกแบบ และสร้างระบบควบคุมอัตโนมัติ กระบวนการการผลิตและแปรรูปพลังงานอื่นๆ มาเป็นพลังงานไฟฟ้า กลไกการจัดการสัญญาณ และระบบการสื่อสารต่างๆ รวมถึง การออกแบบและการควบคุมวงจรไฟฟ้าทั้งแบบอนาล็อกและดิจิทัล เป็นต้น โดยเน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อนำความรู้ทางด้านไฟฟ้ามาใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มีดังนี้

  • Circuit Analysis การวิเคราะห์วงจรไฟฟ้า

  • Electro Magnetic เกี่ยวกับระบบสนามแม่เหล็ก

  • Machine เกี่ยวกับมอเตอร์หม้อแปลง

  • พื้นฐานการออกแบบไฟฟ้าภายในอาคาร

  • Power System Analysis วิเคราะห์ระบบไฟฟ้ากำลัง

  • การประเมินราคา เพื่อประเมินราคาตอนออกแบบทำโครงการต่างๆ

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มีดังนี้

  • วิศวกรไฟฟ้า ทั้งงานในสายออกแบบติดตั้ง และสายซ่อมบำรุง

  • นักทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า

  • นักวิจัยออกแบบชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (R&D)

  • นักออกแบบระบบควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้า (Micro Controler)

  • วิศวกรฝ่ายขาย/บริการ อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง

  • ผู้จัดการในบริษัทอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโรงงาน

 

 

 

2.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร

วิศวกรรมเกษตร (Agricultaral Engineering) เป็นสาขาวิชาที่นำความรู้ด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการเกษตร  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เช่น การทำแปลงเกษตร เทคโนโลยีการเพาะปลูก หรือเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักรกล กระบวนการแปรรูป และการเก็บรักษาผลผลิต เพื่อพัฒนาระบบการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ดังนั้น ผู้ที่เรียนจบสาขาวิชานี้จึงเป็นที่ต้องการ และเป็นบุคลากรที่มีความรู้มาสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรในยุคใหม่

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร มีดังนี้

  • Power for Agricultural System เครื่องต้นกำลังสำหรับระบบเกษตร

  • Agricultural Machinery Engineering เกี่ยวกับเครื่องจักรกลเกษตร

  • อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมเกษตร

  • Crop Ecophysiology สรีรวิทยานิเวศของพืช

  • การประกันคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร มีดังนี้

  • วิศวกรควบคุมการผลิต

  • วิศวกรซ่อมบำรุงอุตสาหกรรมเกษตร

  • วิศวกรเทคโนโลยีการเกษตร

  • วิศวกรฝ่ายขาย/บริการ เครื่องมือ เครื่องจักรด้านการเกษตร

  • นักพัฒนาโปรแกรมด้านเกษตร



3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล

สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบ การประดิษฐ์คิดค้น การผลิต และการบำรุงรักษาระบบทางกลไกทุกแขนง เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ ยานยนต์ ระบบพลังงาน อากาศยาน อุปกรณ์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น โดยนำความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์มาประยุกต์ใช้ทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ เหมาะกับน้องๆ ที่มีความสนใจในเครื่องยนต์กลไก ชอบใช้ตรรกะ และทักษะในการแก้ไขปัญหา

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มีดังนี้

  • Mechanics of Machinery กลศาสตร์เครื่องจักรกล

  • Thermodynamics อุณหพลศาสตร์

  • การถ่ายโอนความร้อน

  • การออกแบบเครื่องจักรกล

  • การสั่นสะเทือนทางกล

  • กระบวนการผลิตและการจัดการงานอุตสาหกรรม

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มีดังนี้

  • วิศวกรเครื่องกลด้านต่างๆ เช่น ด้านการออกแบบ การผลิต การวิจัยพัฒนา ฯลฯ

  • วิศวกรวางโครงการ/บริหารโครงการ

  • วิศวกรดูแลระบบในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

  • ผู้ตรวจสอบการจัดการพลังงาน

  • วิศวกรฝ่ายขาย/บริการแนะนำด้านเทคนิค



4.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา

สาขาวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) จะเน้นการเรียนที่ครอบคลุมการออกแบบ การวิเคราะห์โครงสร้าง การควบคุมการก่อสร้าง การตรวจสอบคุณภาพ และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่น อาคาร ตึก  ถนน สะพาน ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการสำรวจพื้นที่ต่างๆ และการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ 

โดยมีสาขาย่อยที่น่าเรียนถึง 8 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ วิศวกรรมเทคนิคธรณี วิศวกรรมขนส่ง วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมธรณี

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มีดังนี้

  • ปฐพีกลศาสตร์

  • หลักอุทกวิทยา

  • การวิเคราะห์โครงสร้าง

  • การออกแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก

  • วิศวกรรมการขนส่ง

  • วิศวกรรมการก่อสร้างและการประมาณต้นทุนก่อสร้าง

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มีดังนี้

  • วิศวกรออกแบบ

  • วิศวกรก่อสร้าง

  • วิศวกรโครงสร้าง

  • วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ

  • วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง

โดยหลังจากเรียนจบวิศวะแล้ว น้องๆ จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรเสียก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ได้

 


5.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานบริหารจัดการโรงงาน หรือองค์กร เช่น การออกแบบ การวิจัยและพัฒนา การวางแผน การบริหารจัดการ และการประเมินผล โดยครอบคลุมทั้งด้านบุคคล ข้อมูล อุปกรณ์ วัสดุ พลังงาน และการเงิน ซึ่งจะเน้นใช้หลักการทางด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ร่วมกันกับความรู้ด้านอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติ ฟิสิกส์ การตลาด สารสนเทศ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ตลอดจนจิตวิทยา  เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์และผลกำไรสูงสุด

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มีดังนี้

  • วิศวกรรมการบำรุงรักษา

  • วิศวกรรมความปลอดภัย

  • การควบคุมคุณภาพ

  • การวิเคราะห์ต้นทุนอุตสาหกรรมและงบประมาณ

  • การวางแผนและควบคุมการผลิต

  • การออกแบบผังโรงงานอุตสาหกรรม

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มีดังนี้ 

  • วิศวกรวางระบบ

  • วิศวกรโครงการ

  • วิศวกรโรงงาน

  • ผู้จัดการโรงงาน หรือผู้บริหารองค์กร

  • วิศวกรในหน่วยงานของรัฐ

  • วิศวกรในสถาบันการเงินและอุตสาหกรรม



6.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี

วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) เป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบ และควบคุมการทำงานของกระบวนการทางเคมี รวมไปถึง หลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตภายในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กลศาสตร์ และความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ยังมีวิธีการความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์อีกด้วย วิศวกรรมเคมีจึงเป็นสาขาที่เหมาะกับน้องๆ ที่ชื่นชอบวิชาสายวิทย์-คณิต เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี มีดังนี้

  • เคมีวิเคราะห์

  • การออกแบบโรงงานอุตสาหกรรมเคมี

  • พลศาสตร์ของกระบวนการและการควบคุม

  • เทคโนโลยีปิโตรเลียม

  • สมดุลมวลสารและพลังงาน

  • การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี มีดังนี้

  • วิศวกรผลิต

  • วิศวกรโครงการ

  • วิศวกรควบคุม และวางแผนกระบวนการผลิต

  • วิศวกรออกแบบเครื่องมือ และอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม

  • วิศวกรเคมีในภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อาหาร และยา

  • วิศวกรฝ่ายขาย/บริการ ผลิตภัณฑ์เคมี หรืออุปกรณ์สำหรับโรงงาน

  • นักวิจัย/นักพัฒนาด้านเคมี


7.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) เป็นสาขาวิชาที่มีการบูรณาการหลักการทางวิทยาศาสตร์และทางวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ ควบคุมดูแล ตลอดจนออกแบบการบำบัด และกำจัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้มีความเหมาะสมกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้มากที่สุด ทั้งยังศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน สินทรัพย์ และการควบคุมการผลิตของเสียจากกิจกรรมของมนุษย์ และสัตว์อีกด้วย ถึงแม้สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เน้นความรู้เกี่ยวกับ การคำนวณ เคมี และฟิสิกส์เช่นกัน

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

  • การสุขาภิบาลอาคาร

  • การออกแบบทางวิศวกรรมประปา

  • การควบคุมเสียงและการสั่นสะเทือน

  • การจัดการของเสียอันตราย

  • วิศวกรรมขยะมูลฝอย

  • วิศวกรรมการควบคุมมลพิษทางอากาศ

  • การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการจัดการ

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มีดังนี้

  • วิศวกรที่ปรึกษาด้านการออกแบบ สร้าง ตรวจสอบ แก้ไขปัญหามลพิษ

  • วิศวกรควบคุมระบบกำจัดมลพิษการอุตสาหกรรม

  • นวัตกรคิดค้นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

  • นักวิจัย นักวิชาการสิ่งแวดล้อม

  • เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม


8.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร

สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร (Food Engineering) คือ สาขาที่รวมองค์ความรู้จากหลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งคณิตศาสตร์ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์การอาหาร และเทคโนโลยีต่างๆ โดยจัดกลุ่มองค์ความรู้ได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มระบบการผลิตอาหาร กลุ่มเครื่องจักรผลิตอาหาร กลุ่มการวางผังโรงงานการผลิต และกลุ่มระบบสนับสนุนในอาคารการผลิต 

ถือเป็นสาขาวิชาที่ตอบสนองอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปัจจัยสี่ที่จะขยายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีวันหยุดเติบโต วิศวกรอาหารจึงมีบทบาทและเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมนี้

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร มีดังนี้

  • กระบวนการผลิต

  • เคมีและจุลชีววิทยาเบื้องต้นของอาหาร

  • การออกแบบเครื่องมือลำเลียงผลิตภัณฑ์อาหาร

  • การควบคุมคุณภาพในอุตสาหกรรมอาหาร

  • วิศวกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร

  • อุปกรณ์และระบบการวัดสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร มีดังนี้

  • วิศวกรโรงงานอาหาร

  • วิศวกรฝ่ายผลิต

  • วิศวกรออกแบบโรงงานอาหาร

  • วิศวกรฝ่ายผลิตเครื่องจักร หรืออุปกรณ์การผลิตอาหาร

  • วิศวกรออกแบบระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ ระบบท่อ ระบบน้ำดีและน้ำเสีย

  • วิศวกรควบคุม และประกันคุณภาพ

  • วิศวกรฝ่ายขาย/บริการ ในอุตสาหกรรมอาหาร

  • ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน

  • ผู้ประกอบการ เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารของตนเอง



9.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบ การพัฒนา และการบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และระบบเครือข่ายเน็ตเวิร์ก ถือเป็นสาขาที่รวมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมไฟฟ้าเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครือข่าย และอุปกรณ์ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีดังนี้

  • ระบบฐานข้อมูล

  • สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์

  • วิศวกรรมซอฟต์แวร์

  • ระบบปฏิบัติการ

  • การออกแบบวงจรดิจิทัลทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

  • การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนเว็บ

  • การรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีดังนี้

  • วิศวกรซอฟต์แวร์

  • วิศวกรเครือข่าย

  • โปรแกรมเมอร์

  • นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์

  • นักพัฒนาเว็บไซต์

  • นักพัฒนาแอปพลิเคชัน

  • นักพัฒนาเกม

  • นักวิเคราะห์ข้อมูล



10.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์

วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) คือ สาขาวิชาที่นำศาสตร์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบในการสร้าง หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึง การศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน ให้สามารถนำไปใช้กับการแพทย์ได้จริง ทั้งนี้ ผู้เรียนจบวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เพราะอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และยังขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางมาดูแล

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มีดังนี้

  • ชีวกลศาสตร์

  • กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา

  • อิเล็กทรอนิกส์ชีวการแพทย์

  • วิศวกรรมชีวการแพทย์

  • การวัดและเครื่องมือวัดทางชีวการแพทย์

  • ฟิสิกส์รังสีการแพทย์

  • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและอวัยวะเทียม

  • ระบบเครื่องกลไฟฟ้าจุลภาคทางชีวการแพทย์

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มีดังนี้ 

  • วิศวกรชีวการแพทย์ประจำโรงพยาบาล

  • ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์

  • วิศวกรฝ่ายผลิต

  • ผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์

  • นักวิจัย/พัฒนาทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์



11.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์

สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Engineering) จะเรียนเกี่ยวกับเทคนิคทางด้านการออกแบบ และการจัดการระบบขนส่ง หรือการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ ทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ รวมถึง กระบวนการการวางแผนสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ และการวิเคราะห์ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบโซ่อุปทาน ถือเป็นสาขาวิชาที่ช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กร เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ มีดังนี้ 

  • การขนส่งและการกระจายสินค้า

  • วิศวกรรมความปลอดภัย

  • การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง

  • การจัดการตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือ

  • การจัดการนำเข้า-ส่งออก

  • กฎหมายโลจิสติกส์และธุรกิจระหว่างประเทศ

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ มีดังนี้ 

  • วิศวกรโลจิสติกส์และซัพพลายเชน

  • วิศวกรบริหารจัดการคลังสินค้า

  • วิศวกรขนถ่ายสินค้าทางบก วิศวกรการจัดการท่าเรือ

  • วิศวกรด้านผู้ออกแบบ ควบคุม และการบริการโลจิสติกส์ (LSPs)

  • ผู้ประกอบการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ (ขนส่ง จัดเก็บ วางแผน นำเข้า-ส่งออก)

  • นักวิชาการ นักวิจัยทางด้านวิศวกรรมโลจิสติกส์


12.คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ

วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) เป็นสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการออกแบบ การสร้าง การพัฒนา การทดสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอากาศยาน และอวกาศยาน ซึ่งเรียนตั้งแต่พื้นฐานการออกแบบ ไปจนถึงการสร้างทางกายภาพของอากาศยาน เช่น เครื่องบิน จรวด ยานบิน ยานอวกาศ เป็นต้น 

โดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และด้านวิศวกรรมในการแก้ปัญหาต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่จะเรียนสาขานี้จำเป็นต้องมีพื้นฐานและความถนัดวิชาการสายวิทย์–คณิตมากพอสมควร

วิชาที่น่าสนใจในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มีดังนี้ 

  • กลศาสตร์การบิน

  • การวิเคราะห์ระบบทางการบินและอวกาศด้วยคอมพิวเตอร์

  • การขับดันทางการบินและอวกาศ

  • ระบบต้นกำลังเครื่องบิน

  • กลศาสตร์การบินในอวกาศ

  • พื้นฐานด้านการบิน

  • โครงสร้างและวัสดุทางการบินและอวกาศ

  • การออกแบบระบบทางอวกาศ

สายอาชีพสำหรับสาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มีดังนี้

  • วิศวกรควบคุมการผลิตและคุณภาพ

  • วิศวกรออกแบบวิเคราะห์ทางวิศวกรรมโครงสร้าง และอากาศพลศาสตร์ เช่น เครื่องบิน ยานยนต์ กังหันลม เป็นต้น

  • วิศวกรควบคุมการโคจรและสถานีดาวเทียม

  • วิศวกรบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจการบินและอวกาศ

  • วิศวกรด้านธุรกิจการขนส่งทางอากาศ เช่น สายการบิน ท่าอากาศยาน 




เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว หลายคนคงเข้าใจมากขึ้นว่าคณวิศวกรรมศาสตร์เรียนอะไรบ้าง และคณะวิศวะมีสาขาอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละสาขาวิชานั้นจะมีเนื้อหาการเรียนการสอนที่เจาะลึกแต่ละด้านแตกต่างกันไป ดังนั้น ใครที่สนใจเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์อาจต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อเลือกสาขาวิชาเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตัวเอง เมื่อต้องเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน นอกจากนี้ สำหรับใครที่สนใจปูพื้นฐานความรู้หรือเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย สามารถลงเรียนคอร์สออนไลน์ได้แล้วที่สถาบันกวดวิชา megastudy

​​