เรียนพิเศษ ติวสอบ ออนไลน์ กวดวิชาติวเตอร์อันดับ 1 | Megastudy

megastudy

หาวิชาที่ต้องการค่ะ
คณิต เจต
ห่วงใยใกล้ชิด
คณิตกับครูเจต

คณิต เจต

Tutor‘s tip

필독ไขข้อสงสัย! สายวิทย์เรียนวิชาอะไร และเข้าคณะไหนได้บ้าง
  • dongil
  • 12.10.2565
  • 53,789

ไขข้อสงสัย! สายวิทย์เรียนวิชาอะไร และเข้าคณะไหนได้บ้าง

น้องๆ หลายคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อาจกำลังสงสัย หรือลังเลใจว่าควรจะเลือกเรียนสายการเรียนไหน สายวิทย์คณิตเรียนต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง สามารถเข้าคณะไหนได้บ้าง หรือจบมาจะมีงานอะไรรองรับไหม


วันนี้ พี่ๆ megastudy มาตอบทุกข้อสงสัยให้แล้วว่า สายวิทย์คณิตต้องเรียนวิชาอะไร หรือเข้าคณะไหนได้บ้าง รวมถึง เมื่อจบไปจะทำงานอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้น้องๆ ได้ลองตัดสินใจดูว่า สายการเรียนนี้ตรงกับความชอบ หรือความสนใจของตัวเองหรือไม่


สายวิทย์-คณิต คืออะไร?​

สายวิทย์-คณิต คือ การเรียนที่จะเน้นไปที่วิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์เป็นหลัก โดยวิชาและเนื้อหาการเรียนจะคล้ายคลึงกับในระดับมัธยมตอนต้น แต่จะเจาะลึกลงไปในรายวิชาที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้ มีการเรียนในส่วนวิชาอื่นๆ ทั้งวิชาพื้นฐานตามที่กระทรวงศึกษากำหนด เช่น สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย และวิชาอื่นๆ ที่โรงเรียนกำหนด เช่น คอมพิวเตอร์ การงาน และหัตถกรรม เป็นต้น

สายวิทย์-คณิต เรียนวิชาอะไรบ้าง?​

สำหรับน้องๆ ที่สงสัยว่า สายวิทย์-คณิตเรียนวิชาอะไรบ้าง? สายวิทย์-คณิตจะมุ่งเน้นที่การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แบบเชิงลึก รวมถึง ยังเรียนวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้
กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์

กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ ถือเป็นวิชาที่มีความสำคัญในการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย ของน้องๆ สายวิทย์-คณิต ซึ่งจะมีการสอบในข้อสอบกลาง ไม่ว่าจะเป็น ข้อสอบ O-NET, TPAT, A-Level หรือวิชาความถนัดแพทย์ โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องเรียนในระดับมัธยมปลาย จะสามารถแบ่งออกเป็น 3 วิชาหลัก ตามแขนงของวิทยาศาสตร์ ดังนี้
  • ฟิสิกส์ 

วิชาฟิสิกส์ สายวิทย์-คณิต จะเรียนเกี่ยวกับการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ เช่น แรงและการเคลื่อนที่ โมเมนตัม สมดุลกล งานและพลังงาน

  • เคมี 

วิชาเคมี สายวิทย์-คณิต จะเรียนเกี่ยวกับสสาร เช่น สารประกอบ โครงสร้างอะตอม ตารางธาตุ โครงสร้างและปฏิกิริยาทางเคมี สมดุลเคมี แก๊สและสมบัติของแก๊ส

  • ชีววิทยา

วิชาชีววิทยา สายวิทย์-คณิต จะเรียนเกี่ยวกับชีวิตและสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ระบบโครงสร้าง การทำงาน จนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต

 

วิชาคณิตศาสตร์ 

วิชาคณิตศาสตร์ ถือเป็นอีกวิชาที่มีความสำคัญในการสอบเข้าระดับอุดมศึกษาของน้องๆ สายวิทย์-คณิต เพราะมีการสอบในข้อสอบกลาง เช่นเดียวกับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ที่จำเป็นต้องเรียนในระดับมัธยมศึกษาปลาย จะแบ่งออกเป็น 2 วิชาใหญ่ๆ ดังนี้


  • คณิตศาสตร์พื้นฐาน

วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานจะเป็นวิชาที่ทุกสายการเรียน ไม่ว่าจะเป็น สายวิทย์-คณิต สายศิลป์คำนวณ สายศิลป์ภาษา หรือสายศิลป์อื่นๆ จำเป็นต้องเรียน โดยจะเรียนเกี่ยวกับการคำนวณพื้นฐาน เช่น ตรรกศาสตร์พื้นฐาน หลักการนับเบื้องต้น จำนวนจริง ลำดับและอนุกรม เลขยกกำลัง 

  • คณิตศาสตร์เพิ่มเติม

วิชาคณิคศาสตร์เพิ่มเติม จะเป็นวิชาที่มีแค่น้องๆ ที่เรียนสายวิทย์-คณิต และสายศิลป์คำนวณเท่านั้นที่เรียน โดยจะเรียนคณิตศาสตร์เชิงลึกขึ้นกว่าพื้นฐาน ยกตัวอย่างเนื้อหาที่เรียน เช่น ฟังก์ชัน ฟังก์ชันตรีโกณมิติ เวกเตอร์ เมทริกซ์

กลุ่มวิชาพื้นฐาน

กลุ่มวิชาพื้นฐาน จะเป็นการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานที่จำเป็นตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีเนื้อหาและการเรียนการสอน ที่เหมือนกันในทุกสายการเรียน นอกจากนี้ วิชาพื้นฐานบางกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ยังเป็นอีกกลุ่มวิชาที่น้องๆ สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องใช้ในการสอบข้อสอบกลาง เช่น O-NET, TGAT และ A-Level เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยกลุ่มวิชาพื้นฐาน มีดังนี้ 

ภาษาอังกฤษ 

สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ โดยเนื้อหาจะเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ (Grammar) เช่น Tenses, Phrasal Verbs, Comparative และ Superlative, Gerund และ Infinitives, Preposition ฯลฯ ซึ่งเป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนเหมือนกันในทุกสายการเรียน 


ทั้งนี้ บางโรงเรียนอาจมีการจัดการเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอื่นๆ ให้กับนักเรียนทุกแผนการเรียน รวมถึง น้องๆ สายวิทย์-คณิต เช่น วิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่เรียนกับคุณครูต่างชาติ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการพูด หรือวิชาการอ่านและการเขียนภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะทางภาษา และยังช่วยในการทำข้อสอบอีกด้วย

ภาษาไทย 

วิชาภาษาไทยที่สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องเรียน จะเป็นวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ที่มีการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งระดับชั้นมัธยมปลาย โดยจะเรียนเกี่ยวกับหลักภาษาไทย สำนวนไทย คำราชาศัพท์ ธรรมชาติและเหตุผลของภาษา ระดับของภาษา โวหารการเขียน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีการเรียนอ่านจับใจความ วรรณคดีไทย หรือหนังสือนอกเวลาภาษาไทยร่วมด้วย ซึ่งจะมีความแตกต่างตามการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน

สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

กลุ่มวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ที่จะมีการจัดการเรียนการสอนเหมือนกันทั้งระดับชั้นมัธยมปลาย โดยมักจะแบ่งรายละเอียดของแต่ละวิชาออกเป็นแต่ละวิชาย่อย เช่น

  • วิชาประวัติศาสตร์ เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์สากล เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมของโลกยุคโบราณ จนถึงเหตุการณ์สำคัญในโลก เช่น สงครามโลก สงครามเย็น เป็นต้น 

  • วิชาพระพุทธศาสนา เรียนเกี่ยวกับหลักธรรม คำสอน ประโยชน์ของศาสนา รวมทั้งพุทธประวัติ 

  • วิชาเศรษฐศาสตร์ เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจทั้งของไทย และต่างประเทศ เศรษฐกิจแบบจุลภาค เศรษฐกิจแบบมหภาค ฯลฯ

  • วิชาภูมิศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของสถานที่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศ รวมถึง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 

ทั้งนี้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมในแต่ละโรงเรียนจะมีการเรียกชื่อ  หรือออกแบบหลักสูตรที่แตกต่างกัน เพื่อให้ครอบคลุมกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ บางโรงเรียนอาจมีวิชาอื่นๆ ในกลุ่มสาระนี้เพิ่มเติมอีก เช่น วิชาอาเซียนศึกษา หรือ วิชาหน้าที่พลเมือง เป็นต้น

วิชาอื่นๆ 

นอกจากรายวิชาที่มีการสอบในข้อสอบกลางแล้ว บางโรงเรียนอาจมีการจัดการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ หรือทักษะ ที่จำเป็นในการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย หรือในการทำงาน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปตามหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน ยกตัวอย่างวิชาอื่นๆ ที่สายวิทย์-คณิตอาจได้เรียนในระดับชั้นมัธยมปลาย เช่น

 

  • วิชาศิลปะ จะเรียนเกี่ยวกับทักษะทางศิลปะ เช่น การวาดรูป แสงเงา หรือการลงสีภาพแบบต่างๆ และอาจเรียนเกี่ยวกับกระแสศิลปะในยุคต่างๆ ร่วมด้วย

  • วิชาดนตรี เรียนเกี่ยวกับดนตรีไทย และดนตรีสากล เช่น เครื่องดนตรี การรำ นาฏศิลป์ หรือวิวัฒนาการดนตรีในแต่ละช่วงสมัย

  • วิชาสุขศึกษา เรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ อนามัยต่างๆ เช่น โรคทางพันธุกรรม การสุขาภิบาลอาหาร การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ 

  • วิชาพลศึกษา เรียนกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งในแง่กฎกติกา มารยาทการเล่น และทักษะพื้นฐานในการเล่นกีฬานั้นๆ ซึ่งกีฬาจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่หลักสูตรของแต่ละโรงเรียน เช่น วอลเลย์บอล ตะกร้อ กรีฑา บาสเกตบอล ฟันดาบ หรือลีลาศ

  • วิชาคอมพิวเตอร์ เรียนเกี่ยวกับการใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น Excel, Photoshop, หรือโค้ด Html พื้นฐาน

เรียนวิทย์-คณิต เข้าคณะอะไรได้บ้าง?

หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่า สายวิทย์-คณิตเรียนวิชาอะไรบ้าง? เชื่อว่า น้องๆ หลายคนอาจสงสัยว่า เรียนวิทย์- คณิตเข้าคณะอะไรได้บ้าง หรือจบไปสามารถทำงานอะไรได้บ้าง? 


เนื่องจากสายวิทย์-คณิต ได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ทำให้สามารถเข้าศึกษาต่อในคณะหรือสาขาที่ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Science) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (Doctor of Medicine) หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Engineering) ได้ด้วย โดยตัวอย่างคณะ มีดังนี้

 

คณะแพทยศาสตร์

เชื่อว่าน้องๆ สายวิทย์-คณิตหลายคนที่อยากเป็นหมอ จะต้องรู้จักกับคณะแพทยศาสตร์อย่างแน่นอน และหากกำลังสงสัยว่า หมอเรียนอะไรบ้าง? หรือต้องเก่งวิชาไหนเป็นพิเศษ? ในการเรียนคณะจะใช้ความรู้ทางชีววิทยาเป็นหลัก เนื่องจากต้องทำความเข้าใจอวัยวะ และร่างกายของมนุษย์ เพื่อที่จะรักษามนุษย์ ซึ่งคณะนี้จะเรียน 6 ปี

คณะทันตแพทยศาสตร์ 

คณะทันตแพทยศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ หมอฟัน เป็นการเรียนในระยะเวลา 6 ปีเท่ากับคณะแพทยศาสตร์ แต่จะเจาะไปที่การรักษาฟัน หรืออวัยวะภายในช่องปากโดยเฉพาะ โดยอาจไม่ได้ลงรายละเอียดในร่างกายส่วนอื่นมากนัก

 

คณะสัตวแพทยศาสตร์ 

สัตวแพทย์ หรือหมอรักษาสัตว์ เป็นคณะที่ใช้ระยะเวลาในการเรียน 6 ปีเท่ากับคณะแพทยศาสตร์ จะเรียนตั้งแต่อวัยวะของสัตว์ต่างๆ ระบบการทำงานของร่างกาย โดยรายวิชาจะใกล้เคียงกับของแพทยศาสตร์ แต่จะเป็นเรื่องของสัตว์ทั้งหมดนั่นเอง

คณะเภสัชศาสตร์

อีกคณะที่สายวิทย์-คณิตสามารถเรียนได้ คือ คณะเภสัชศาสตร์ จะใช้ระยะเวลาในการเรียนทั้งหมด 6 ปี เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวยา ส่วนผสม และการคำนวณโดสยา ซึ่งจะเรียนรู้เรื่องของยาโดยละเอียด สำหรับคณะนี้ จะแบ่งการเรียนออกเป็น 2 สาขาหลัก คือ 

  • กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science) สายนี้จะเน้นไปทางอุตสาหกรรม การวิเคราะห์วิจัยตัวยา  

  • กลุ่มวิชาบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาคอย แนะนำยาแก่แพทย์

คณะสหเวชศาสตร์

สหเวชศาสตร์ เป็นคณะที่ดำเนินการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะเน้นไปด้านเฉพาะทางต่างๆ ตามแต่ละสาขา เช่น สาขากายภาพบำบัด ก็จะเป็นนักกายภาพบำบัด สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร ก็จะเป็นนักโภชนาการ เป็นต้น

 

คณะประมง

หากน้องๆ สายวิทย์-คณิตคนไหน ชื่นชอบทะเล หรือสัตว์น้ำ จะต้องรู้จักกับคณะประมงอย่างแน่นอน หรือบางมหาวิทยาลัยอาจใช้ชื่อว่า คณะเทคโนโลยีการประมง และทรัพยากรทางน้ำ โดยภาพรวมคณะนี้จะเรียนเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ ที่สามารถส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้ เช่น การจัดการทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ฟาร์มสัตว์น้ำ และเทคโนโลยีการแปรรูปสัตว์น้ำ รวมถึง การพัฒนาการทำประมง เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาที่เจาะลึกจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาวิชาเอกที่เลือกเรียน

 

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์

วิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งคณะยอดฮิตของเด็กสายวิทย์-คณิต ซึ่งเป็นคณะที่เน้นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาเพื่อชีวิตของเราที่ดียิ่งขึ้น โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์แบ่งได้หลายสาขา เช่น สาขาคอมพิวเตอร์ จะเชี่ยวชาญในเรื่องของการวิเคราะห์ ออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเน้นไปทางวิทยาศาสตร์โดยชัดเจน เพราะมีทั้งการทดลอง การตั้งสมมติฐาน การสังเกตกลไกการเกิดปฏิกิริยา จนไปถึงการใช้หลักคณิตศาสตร์มาวัดค่า วัดปริมาณ และการคำนวณเพื่อความแม่นยำทางผลการทดลอง

 

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จะเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬา โดยแบ่งสาขาต่างๆ เช่น 

  • สาขาชีวกลศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น ข้อต่อ 

สาขาสรีรวิทยา เรียนเกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย ว่าอวัยวะนี้ช่วยในการออกกำลังกายอย่างไร

 

คณะอุตสาหกรรมเกษตร

คณะอุตสาหกรรมเกษตรจะเรียนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรมาเข้าสู่อุตสาหกรรม การแปรรูป การบรรจุ เป็นการพัฒนาและต่อยอดผลผลิต เพื่อสร้างมูลค่าของสินค้าตัวนั้นๆ ในการเรียนจะแบ่งออกเป็นสาขา เช่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเทคโนโลยีการบรรจุ สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร ฯลฯ

 

ณะวนศาสตร์

คณะวนศาสตร์ เป็นคณะที่เรียนเกี่ยวกับป่าไม้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ ชีววิทยาป่าไม้ และระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต รวมถึง ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี วิศวกรรมป่าไม้ และแนวทางการอนุรักษ์ป่า

 

คณะอื่นๆ ที่สายวิทย์-คณิตก็สามารถเข้าได้

นอกจากวิชาในกลุ่มที่ใช้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในเชิงลึกแล้ว สายวิทย์-คณิตยังสามารถเข้าคณะอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน เพราะในการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย น้องๆ สายวิทย์-คณิตจำเป็นต้องเรียนวิชาพื้นฐานอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือสังคมศึกษา ร่วมด้วย โดยคณะอื่นๆ มีดังนี้

 

คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี / คณะบริหารธุรกิจ

คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี หรือบางมหาวิทยาลัยอาจใช้ชื่อว่า คณะบริหารธุรกิจ เป็นคณะที่มีภาพรวมในการเรียนเน้นไปที่การคำนวณ การเงิน การบัญชี การบริหารและการจัดการ โดยมีการเรียนการสอนตั้งแต่การศึกษาลักษณะธุรกิจด้านต่างๆ การบริหารงาน สถิติและข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งคณะนี้มีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 แบบ คือ บัญชีบัณฑิต และบริหารธุรกิจบัณฑิต เมื่อเรียนจบไป สามารถทำงานเป็นนักบัญชี ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ได้

คณะเศรษฐศาสตร์ 

อีกคณะที่สายวิทย์-คณิต สามารถเลือกเรียนต่อได้ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากร การผลิตและกระจายสินค้า การแข่งขันทางเศรษฐกิจ จนถึงการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเมื่อเรียนจบจะไม่ได้มีอาชีพที่มีคำเฉพาะ มักถูกเรียกว่า นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักวิเคราะห์ วิจัย วางแผนเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ วิเคราะห์สภาวะการตลาดให้กับบริษัท

คณะนิติศาสตร์ 

คณะนิติศาสตร์ เป็นอีกคณะที่สายวิทย์-คณิตสามารถเรียนต่อได้ โดยจะเรียนเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายต่างๆ ทั้งหมด เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายมหาชนเบื้องต้น กฎหมายภาษี หลักวิชาชีพนักกฎหมาย ฯลฯ 


คณะนี้จะเป็นคณะที่เน้นเกี่ยวกับการท่องจำและความเข้าใจ ข้อกฎหมาย ข้อยกเว้น หรือแม้แต่ต้องศึกษาช่องโหว่ของกฎหมาย เมื่อเรียนจบแล้วสามารถทำงานเป็นนิติกร ผู้พิพากษา ทนายความ พนักงานอัยการ

คณะรัฐศาสตร์ 

คณะรัฐศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับรัฐ สังคม การเมืองการปกครอง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเป็นการเรียนเพื่อเข้าใจถึงสภาพสังคม การทำงานของรัฐ และการบริหารจัดการงานของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐศาสตร์มักแบ่งสาขาได้หลายทาง เช่น สาขาวิชาการเมืองการปกครอง สาขาการระหว่างประเทศ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เป็นต้น เมื่อเรียนจบมักประกอบอาชีพเกี่ยวกับนักวิเคราะห์ข้อมูล การเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ   

 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับทางด้านงานสถาปัตยกรรม ทั้งการออกแบบตัวอาคาร ออกแบบตัวเมือง ดังนั้น จะต้องมีความรู้ด้านวัสดุ การก่อสร้าง และใช้ความรู้ด้านวิศกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นการออกแบบตัวอาคาร สถานที่ที่ต้องเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับลักษณะสวยงามและเหมาะสม เช่น  สาขาสถาปัตยกรรม การออกแบบผังเมือง สาขาออกแบบอุตสาหกรรม สำหรับคณะนี้จะเรียนทั้งหมดเป็นระยะเวลา 5 ปี สามารถประกอบอาชีพได้หลายอย่างทั้งสถาปนิก นักออกแบบ นักออกแบบตกแต่งภายใน เป็นต้น

คณะนิเทศศาสตร์ 

นิเทศศาสตร์ คือ ศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง วิทยุกระจายเสียง การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา เมื่อเรียนจบไป สามารถเป็นได้ทั้งผู้จัดรายการ ผู้ประกาศข่าว พิธีกร บรรณาธิการ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ผู้เขียนบทละคร

คณะอักษรศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์

อีกคณะที่สายวิทย์-คณิตสามารถเข้าเรียนได้ คือ คณะอักษรศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่มหาวิทยาลัย เช่น 

  • คณะอักษรศาสตร์: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร

  • คณะศิลปศาสตร์: มหาวิทยาลัยธรรมชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล

  • คณะมนุษยศาสตร์: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ

แต่โดยภาพรวมจะเน้นเรียนเกี่ยวกับภาษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอื่นๆ โดยที่ไม่ได้หยุดที่คำว่า ‘ภาษา’ เพียงอย่างเดียว ยังเรียนเจาะลึกไปถึงการศึกษาสภาพสังคมและการใช้ชีวิต วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา และวัฒนธรรมอีกด้วย โดยอาชีพส่วนใหญ่ของคณะนี้จะมีหลากหลาย เช่น ล่าม นักเขียน นักแปล เลขานุการ มัคคุเทศน์

คณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ 

ใครอยากเป็นคุณครู ต้องคณะนี้เลย เป็นการเรียนเกี่ยวกับการฝึกสอน พัฒนามุ่งไปสู่การเป็นครู ทั้งการศึกษาวิชาหลักตามสาขาที่เลือก ทักษะในการจัดการการเรียนการสอน รวมทั้งการฝึกทดลองสอน ซึ่งหลักสูตรคณะนี้แบ่งได้หลายสาขา เช่น ครุศาสตร์ปฐมวัย ครุศาสตร์มัธยมศึกษา  ในปัจจุบันหลักสูตรของคณะครุศาสตร์หลายๆ ที่จะเรียนทั้งหมด 4 ปี แต่ก็ยังมีบางมหาวิทยาลัยที่ยังใช้หลักสูตร 5 ปีอยู่

 

สรุป

จบไปแล้วกับรายละเอียดของการเรียนสายวิทย์คณิต เชื่อว่าน้องๆ คงจะเห็นภาพมากขึ้นว่าสายวิทย์คณิตเข้าคณะอะไรได้บ้าง มีเรียนวิชาอะไร และมีโอกาสทำงานอะไร การเลือกสายวิชาที่ต้องการจะเรียนถือเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจที่ใหญ่ในชีวิต เนื่องจากบางคณะจะมีการระบุคุณสมบัติของผู้สมัครไว้ว่าต้องเป็นนักเรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น ทั้งนี้ พี่ๆ megastudy เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนในการตัดสินใจเลือกสายการเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เพราะทุกสายการเรียนล้วนสำคัญทั้งนั้น ส่วนใครที่อยากเตรียมความพร้อม ติวเข้มเพื่อเพิ่มคะแนนสอบ สามารถสอบถามกับพี่ๆ ทีมงาน megastudy ได้เลย

 

​​​​